โรงพยาบาลกุมภวาปี | kumpawapi Hospital : บทความ เชื้อดื้อยา หายยาก แรงถึงตาย รู้จักป้องกันก่อนสาย 

เชื้อดื้อยา หายยาก แรงถึงตาย รู้จักป้องกันก่อนสาย

อดีต

โรคฝีดาษเคยระบาดในประเทศจีนและญี่ปุ่นและคร่าชีวิตประชากรในประเทศถึง 1 ใน 3
ตอนนี้ องค์การอนามัยโลกประกาศว่า โรคฝีดาษได้หมดไปจากโลกนี้แล้ว

ปัจจุบัน

โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประเทศไทย มีผู้ป่วยใหม่ กว่าแสนคนต่อปี

ตอนนี้ นายแพทย์ฮอนโจะ ทะสุกุ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลปี 2018 จากการค้นคว้าวิธีรักษามะเร็งด้วยการใช้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย กล่าวว่า ไม่เกิน 10 ปี มะเร็งจะสามารถรักษาได้

อนาคตอันใกล้

เชื้อดื้อยาถูกคาดการณ์ว่า จะเป็นต้นเหตุหลักการเสียชีวิตของมนุษย์แซงหน้ามะเร็ง และภายในปี พ.ศ. 2593 ประชากรโลกกว่า 10 ล้านคนอาจเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา

และในตอนนี้ประเทศไทยมีคนเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณ 15 นาทีต่อคน

จากประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่ยกมาข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ความตายคือสิ่งที่มนุษย์พยายามเอาชนะมากที่สุด ต่อให้เป็นโรคร้ายแค่ไหน มนุษย์จะพยายามค้นคว้าหา “วิธี” รักษาจนสำเร็จ ซึ่งที่ผ่านมา “ยา” คือ “วิธี” ที่มนุษย์ใช้ในการเอาชนะความตายจากโรคภัยไข้เจ็บ

เราจึงไว้ใจ “ยา” เสมอมา แต่สำหรับวิกฤติเชื้อดื้อยานั้น มันกำลังทำให้เราต้องตั้งคำถามกันใหม่ เพราะ “ยา” ได้กลับกลายเป็นต้นตอของสาเหตุของปัญหาเสียเอง

ด้วยเหตุนี้เชื้อดื้อยาจึงกลายเป็นวาระสำคัญของทุกประเทศ และองค์กรอนามัยโลกได้กำหนดให้มีสัปดาห์ตระหนักรู้เรื่องเชื้อดื้อยาในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งประเทศไทยในวันที่ 12-18 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 ก็จะมี “สัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย” เช่นกัน เพื่อรณรงค์ให้ทุกคนรับรู้และป้องกันอันตรายจากเชื้อดื้อยา

สาเหตุหลักๆ ของเชื้อดื้อยามาจากการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาอย่างไม่ถูกวิธี การใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมอาหาร และการปนเปื้อนในสภาพแวดล้อม เสริมกับพฤติกรรมความเคยชิน รวมถึงการขาดความรู้ ทำให้สถานการณ์ของเชื้อดื้อยามีความรุนแรง และควบคุมได้ยาก

“หากเทียบกับการเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ อาการของโรคพวกนี้จะชัดกว่า หาสาเหตุได้ง่ายกว่า แต่สำหรับเชื้อดื้อยานั้น มันจะชัดเจนตอนที่เราอยู่ในภาวะวิกฤติของการรักษา คนที่เป็นเชื้อดื้อยามักเสียชีวิตจากการเป็นปอดบวม เพราะร่างกายมันไม่สามารถรับยาได้อีกแล้ว จากการผ่านยามาเยอะ

และแนวโน้มของเชื้อดื้อยาก็มีความรุนแรงสูงมากขึ้น เพราะต่อให้เราคิดยาใหม่สำเร็จ บางครั้งก็ไม่สามารถต่อกรกับเชื้อแบคทีเรียได้ เพราะแบคทีเรียมีความแข็งแรงและมีความสามารถในการปรับตัวให้มีชีวิตสูงมาก มันสามารถปรับตัวได้เร็วกว่ามนุษย์หลายเท่า”

พญ.วารุณี พรรณพานิช จากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้เล่าถึงแนวโน้มของวิกฤติเชื้อดื้อยาที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของ WHO ที่ได้ยกเรื่องเชื้อดื้อยาขึ้นมาเป็นวาระสำคัญ

เชื้อดื้อยาเป็นภัยร้ายที่โอบล้อมเราเข้ามาเรื่อยๆ ไม่เกี่ยง เพศ วัย หรือฐานะ อย่างไรก็ตามในบางช่วงวัยก็ต้องให้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ

“วัยที่มีความเสี่ยงมากที่สุด คือ ช่วง Extreme Age ซึ่งก็คือ วัยเด็กเล็กมาก กับคนสูงอายุเพราะกลุ่มคนเหล่านี้จะมีภูมิคุ้มกันร่างกายไม่มากพอ ทำให้ติดเชื้อง่าย ในส่วนของวัยทำงานทั่วไป อาจเกิดจากการซื้อยากินเอง แล้วกินอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้มีเชื้อสะสมอยู่ในร่างกาย แต่ยังไม่ลุกลาม” พญ.วารุณีกล่าว

ซึ่งในกรณีของเด็กเล็กที่เป็นเชื้อดื้อยา พญ.วารุณี ได้เล่าถึงตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงว่า เด็กบางคนแค่พ่อแม่ขายไก่ทอดที่อาจมีการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง ก็สามารถทำให้เชื้อดื้อยาแพร่ผ่านการสัมผัสจากพ่อแม่สู่ลูกได้

“ความน่ากลัวที่สุดของเชื้อดื้อยาคือ มันซ่อนอยู่ แต่เราไม่มีทางรู้ตัว ซึ่งการจะรู้ได้นั้นต้องไปรับการตรวจที่ห้องปฏิบัติการทางจุลวิทยา หรือที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งตามคลินิกหรือบางโรงพยาบาลอาจจะไม่สามารถตรวจได้ เพราะขาดเครื่องมือ” พญ.วารุณี กล่าวทิ้งท้าย

ดังนั้นทางที่ดีที่สุด เราจึงควรดูแลตนเอง หลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดเชื้อดื้อยา ด้วยแนวทางดังนี้

1. อย่าใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น

2. หากจำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะต้องกินตามคำสั่งแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด

3. ไม่กินยาปฏิชีวนะกับโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส เช่น อุจจาระร่วง แผลสดจากอุบัติเหตุ และหวัดเจ็บคอ (หวัดเจ็บคอ 80% มักมีสาเหตุจากเชื้อไวรัส พักผ่อนเพียงก็หายเองได้)

4. หมั่นล้างมือให้ถูกวิธี เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อจากการสัมผัส

และถ้าเราสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดเชื้อดื้อยาเพิ่มเติมเป็นระยะเวลาหนึ่ง เชื้อดื้อยาที่เคยสะสมอยู่ในร่างกายของเราจะค่อยๆ สลายหายไปได้

แม้วันนี้เราอาจจะยังไม่สามารถสรุปผลแพ้ชนะ และจำนวนการสูญเสียที่แน่ชัดของมนุษย์จากเชื้อดื้อยาได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราอาจเรียนรู้ได้ทันทีก็คือ มนุษย์คือต้นเหตุของวิกฤติในครั้งนี้ และทางแก้ก็คือความร่วมมือร่วมใจของเราทุกคนที่จะลดปัจจัยในการเกิดเชื้อดื้อยา เพื่อทำให้มูลค่าของบทเรียนไม่สูงเกินกว่าจะจ่ายไหว

หากสนใจข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อดื้อยาเพิ่มเติมสามารถเข้าไปดูได้ที่ http://www.thaidrugwatch.org/
และ http://atb-aware.thaidrugwatch.org/

ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และสสส.

ผู้เขียน : นายอิศรา ทิพวัฒนา
ตำแหน่ง : นักวิชาการคอมพิวเตอร์
วันที่เขียน : 07 พฤษภาคม 2562 เวลา : 09:05:53 น.
ผู้ชม 2724 ครั้ง